09 มกราคม 2552

เทพเอเรส หรือ เอรีส (Ares) หรือ มาร์ส (Mars) เทพเจ้าแห่งสงคราม


เทพผู้เป็นเจ้าแห่งการสงครามคือ มาร์ส (Mars) หรือ เอเรส (Ares) ซึ่งเป็นชู้รักของเทวีอโฟรไดท์ เอเรสเป็นบุตรองค์หนึ่งของเทพปริณายก ซุส กับเจ้าแม่ เฮรา และเป็นที่เกลียดชังของเทพและมนุษย์ทั้งปวงเว้นแต่ชาวโรมัน ผู้มีนิสัยชอบการสงคราม

ชาวโรมันเทิดทูนสดุดีเทพองค์นี้ยิ่งนัก ถึงกับอุปโลกน์ให้เป็นเทพบิดาของ โรมิวลัส (Romulus) ผู้สร้างกรุงโรม และพรรณาสรรเสริญเกียรติคุณนานัปการ ตรงกันข้ามกับชาวกรีก ซึ่งนอกจากจะไม่นิยมเลื่อมใสเทพองค์นี้แล้ว ยังถือว่าเอเรสเป็นเทพที่มีสันดานป่าเถื่อนดุร้าย ปราศจากความเมตตากรุณาเสียอีก ในมหากาพย์อิเลียด ซึ่งเป็นบทกวีเกี่ยวกับการสงครามแท้ๆ แต่เอเรสกลับเป็นที่เกลียดชังตลอดเรื่อง นักกวีโฮเมอร์ถึงแก่ประณามเธอว่า "ยินดีในการประหัตประหาร มีมลทินด้วยเลือด เป็นอุบาทว์สำหรับมนุษย์ทั้งปวง" เมื่อสรุปตามสายตาของกรีกดังกล่าวโดยสำนวนปัจจุบัน เราจะเห็นว่าเอเรสคือ เทพอันธพาลของกรีก

เอเรสเป็นโอรสขององค์เทพซุสกับเฮราเทวี และทรงเป็นโอรสที่เทพบิดาซุสตรัสใส่หน้าเลยว่า "เจ้าเป็นที่น่าชังที่ สุดในบรรดาลูกของข้า ทั้งโหดร้าย ดื้อด้านเหมือนแม่เจ้าไม่ผิด!" ซึ่งวาทะประโยคนี้นับว่าวิจารณ์อุปนิสัยใจคอของเอเรสได้ตรงเป็นที่สุด นอกจากโหดร้ายและดื้อดึง เอเรสยังบุ่มบ่าม โกรธง่าย และนิยมความรุนแรงมาก นับว่าเป็นอุปนิสัยที่แตกต่างกับเจ้าแม่อธีนามากซึ่งเป็นเทวีแห่งสงครามเหมือนกัน อธีนานั้นสุขุม เฉลียวฉลาดและกล้าหาญ จึงได้รับการยกย่องทั่วทุกหนแห่ง เป็นเหตุให้เอเรสเกิดจิตริษยาเอามาก เวลาพบกันทีไรจึงมักมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันเป็นประจำ มีครั้งสำคัญอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อไปพบกันกลางทางและมีเรื่องทะเลาะกันอย่างเคย เทพเอเรสเกิดบันดาลโทสะ จึงขว้างจักรอันเรืองฤทธิ์แรงกล้าพอๆ กับอสนีบาตขององค์ซุสเทพบิดา เข้าใส่อธีนา เจ้าแม่เอี้ยวหลบแล้วทรงยกเอาหินที่วางอยู่แถวๆ นั้นขึ้นทุ่มตอบกลับไป หินก้อนนั้นมิใช่หินธรรมดา แต่เป็นหินที่ตั้งไว้เพื่อ แสดงเขตแดนของนคร หินนั้นกระทบถูกเอเรสเข้าให้ถึงกับทรุดลงกองกับพื้น ก่อนที่เทวีอธีนาจะกลับไปเจ้าแม่ยังกล่าวเยาะ ให้เจ็บใจเล่นด้วยว่า "เจ้างั่ง! เพียงแค่นี้ เจ้าก็เดาได้แล้วใช่ไหมว่าเรี่ยวแรงของเรามากขนาดไหน อย่าแหยมมารบกวน เราอีกต่อไปเลย!"

เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเอเรสองค์นี้ คือในฐานะที่เป็นเทพแห่งสงคราม ตามปกติหากรบที่ไหนต้องมีชัยที่นั่น แต่ผิดถนัดสำหรับเทพองค์นี้ หากว่าเอเรสรบที่ไหนปราชัยที่นั่นมากกว่า จนน่าประหลาดใจ นอกจากจะพ่ายแพ้แก่เทวีอธีนาแล้ว ยังแพ้มนุษย์อีกด้วย อาทิเช่น วีรบุรุษเฮอร์คิวลิส เคยสังหารโอรสของเอเรสมาแล้ว ครั้นผู้เป็นพ่อเข้าช่วยลูก ก็ถูกต่อยตีจนต้องหลบหนีขึ้นไปบนโอลิมปัสแทบไม่ทัน เมื่อนำเรื่องทูลฟ้องซุสเทพบดี ซุสก็ตัดสินไกล่เกลี่ยให้เลิกรากันไป เนื่องจากแท้ที่จริง เฮอร์คิวลิสก็เป็นโอรสของซุสเช่นเดียวกัน เพียงแต่มีมารดาเป็นมนุษย์สามัญ

เทพเอเรสมักเสด็จไปไหนๆ โดยรถศึกเทียมม้าฝีเท้าจัดมากมาย แสงเกราะและแสงศาตราวุธของเธอส่องแสงเจิดจ้าบาดตาผู้พบเห็น มีบริวารที่ติดสอยห้อยตามอยู่ 2 คนคือ เดมอส (Deimos) ซึ่งแปลว่าความกลัว กับ โฟบอส (Phobos) แปลว่าความน่าสยองขวัญ บริวารนี้บางตำนานกล่าวว่าเป็นโอรสของเทพเอเรส ในทางดาราศาสตร์เมื่อตั้งชื่อดาวอังคารว่า มาร์ส ตามชื่อเทพแห่งสงครามแล้ว ก็เลยตั้งชื่อดวงจันทร์บริวารทั้งสองของดาวอังคารว่า เดมอสกับโฟบอสตามตำนานไปด้วย

ในด้านความรักของเอเรสนั้นเร่รักไปเรื่อยเช่นเดียวกับเทพบุตรอื่นๆ ในโอลิมปัส ไม่ได้ยกย่องใครเป็นชายา แต่มีเรื่องรักสำคัญของเอเรสอยู่ครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้น ได้แก่ การลักลอบเป็นชู้กับเทวีแห่งความงามและความรักนาม อโฟรไดท์ เมื่อเอเรสเป็นที่เกลียดชังของเทพและมนุษย์ (ชาวกรีก) เช่นนั้น พฤติการณ์ตอนเป็นชู้กับเทวีอโฟรไดท์จึงเป็นที่ครหารุนแรงและมวลเทพก็คอยจ้องจับผิด ก็เพราะความมืดของราตรีกาลเป็นใจและเอเรสหลบไปได้ก่อนดวงอาทิตย์ของอพอลโลไขแสง หากยังจับไม่ได้คาหนังคาเขา พฤติการณ์ของเอเรส ก็ยังคงเป็นความลับ เอเรสเกรงกลัวอยู่ก็แต่แสงสว่าง ซึ่งเปรียบประดุจนักสืบของเทพอพอลโลเท่านั้น เอเรสจึงวางยามไว้คนหนึ่ง ให้คอยปลุกเมื่อใกล้รุ่ง ผู้ทำหน้าที่นี้คือ หนุ่มน้อยชื่อว่า อเล็กไทรออน (Alectryon)

ถึงคราวที่ความจะแตก อเล็กไทรออนหลับยามเพลินไปจนรุ่งเช้าเป็นเหตุให้อพอลโลเห็นเอเรสกับอโฟรไดท์นิทราอยู่ด้วยกัน อพอลโลจึงนำความไปบอกแก่เทพฮีฟีสทัส ฮีฟีสทัสสานร่างแหเหล็กเตรียมไว้ก่อนแล้ว พอได้ความดังนั้นก็หอบร่างแหไปทอดครอบเอเรสกับอโฟรไดท์ ไว้ให้เทพทั้งปวงมาดูและหัวเราะเยาะอย่างครื้นเครงแล้วจึงปล่อยไป ฝ่ายเอเรสได้รับความอัปยศอดสูท่ามกลางธารกำนัลยิ่งนัก จึงสาปอเล็กไทรออนให้กลายเป็นไก่ ทำหน้าที่คอยขันยามในเวลาใกล้รุ่งทุกคืน เป็นการลงโทษในการที่หลับยาม ด้วยเหตุนี้ไก่ผู้ทุกตัวที่เกิดขึ้นในโลกจึงสืบสกุลมาจากไก่อเล็กไทรออนตัวแรกนั้นทั้งสิ้น และผลของการอภิรมย์ของคู่นี้ ทำให้เทวีอโฟร์ไดท์ประสูติธิดาออกมาองค์หนึ่งนามว่า อาร์โมเนีย ซึ่งต่อมาได้เป็นราชินีแห่งนครธีบส์

เทพีเฮสเทีย (Hestia) หรือ เวสตา (Vesta)


ในคณะเทพโอลิมเปียนมีเทวีพรหมจารีอยู่ 3 องค์ ทรงนามตามลำดับว่า เฮสเทีย (Hestia) อธีนา (Athene) อาร์เทมิส (Artemis) เฮสเทีย (Hestia) ในภาษาโรมันว่า เวสตา (Vesta) เป็นที่เคารพนับถือในฐานะอัคนีเทวีผู้ครองไฟ โดยเฉพาะไฟเตาผิงตาม เคหสถานบ้านช่อง เพราะฉะนั้นจึงถือกันว่าเจ้าแม่ย่อมคุ้มครองชีวิตความเป็นอยู่ในบ้านด้วย เตาไฟผิงเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์มากสำหรับครอบครัวกรีก และโรมันจนเกือบจะเรียกว่าที่บูชาก็ได้ ด้วยเขาถือว่า ไฟที่ลุกบนเตานั้นเป็นไฟของเจ้าแม่ เมื่อมีเด็กเกิดใหม่ในบ้านกรีก พอเด็กอายุได้ 5 วัน พ่อของเด็กจะอุ้มลูกไปเวียนรอบเตาผิง ซึ่งในสมัยโน้นอยู่กลางเคหสถาน ไม่ได้อยู่ติดฝาเหมือนสมัยนี้ การอุ้มลูกไปเวียนรอบเตาผิงนั้นก็เพื่อให้เป็นเครื่องหมายว่า เจ้าแม่จะได้รับเด็กนั้นไว้ในความอารักขา คุ้มครองของเจ้าแม่ โดยเฉพาะเวลาที่เด็กเริ่มเดิน

เฮสเทียเป็นพี่สาวคนโตของซุส เป็นเทวีที่รักษาความโสดอย่างดียิ่ง ประชาชนจึงเคารพนับถือเฮสเทียด้วยเหตุผลนี้อีกอย่างหนึ่งด้วย
เฮสเทียไม่ยอมเป็นชายาของซุส แม้โปเซดอนซึ่งเป็นพี่ชายขอแต่งงานด้วยเฮสเทียก็ไม่ยินยอม และอพอลโลซึ่งเป็นหลานก็ถูกปฏิเสธเช่นกัน

วิหารของเจ้าแม่เฮสเทียมีลักษณะเป็นวงกลม และมีเจ้าพิธีเป็นหญิงพรมหมจารี ผู้สละการวิวาห์อุทิศถวายเจ้าแม่ ทำหน้าที่คอยเติมไฟในเตาไฟสาธารณะ ซึ่งมีประจำทุกนคร มิให้ดับ ชาวโรมันเชื่อว่า ลัทธิบูชาเจ้าแม่
เฮสเทียแผ่ไปถึงถื่นประเทศของตน โดยมีวีรบุรุษ อีเนียส (Aeneas) เป็นผู้นำเอาเข้า ไป แล้ว นูมาปอมปิเลียส (Numa Pompilius) กษัตริย์กรุงโรมจึงสร้างศาลเจ้าอุทิศถวายเจ้าแม่ขึ้น ซึ่งเรียกว่า Roman Forum เขาเชื่อกันเป็นมั่นเหมาะแน่นแฟ้นว่า สวัสดิภาพของกรุงโรมทั้งมวลและการแผ่นดินทั้งปวงนั้นขึ้นอยู่ที่การรักษาเปลวไฟศักดิ์สิทธิ์ ณ วิหารนั้ให้ดำรงอยู่เป็นสำคัญ

หญิงพรหมจารีผู้ทำหน้าที่คอยอารักขาเปลวไฟแห่งวิหารนี้เรียกว่า เวสตัล (Vestal) ในชั้นเดิมมี 4 คน ต่อมาในชั้นหลังเพิ่มขึ้นเป็น 6 คน อยู่ในความควบคุม ของจอมอาจารย์บัญชาการศาสนาของโรมเรียกว่า Pontifex Maximus เมื่อคณะเวสตัลพรหมจารีขาดจำนวนลง จอมอาจารย์ผู้นี้จะเลือกผู้สืบแทนในตำแหน่งที่ว่างจากเวสตัลสำรองทั้งหมดด้วยวิธีการจับสลาก ผู้สมัครเป็นเวสตัลสำรองนั้นจะต้องมีอายุในระหว่าง 6-10 ขวบ มีร่างกายและจิตใจสมประกอบ และมีชาติกำเนิดเป็นชาวอิตาลี เวสตัลสำรองจะต้องรับการฝึกฝนอบรมเป็นเวลา 10 ปี แล้วเลื่อนขึ้นเป็นเวสตัลปฏิบัติหน้าที่ในวิหารศักดิ์อีก 10 ปี เมื่อพ้นกำหนดนั้นแล้วต้องทำหน้าที่สั่งสอนอบรมเวสตัลสำรองต่อไปอีก 10 ปี จึงครบเกษียณอายุราชการ ปลดเป็นไทเมื่ออายุ 40 ถ้าพึงประสงค์ก็อาจประกอบอาชีพอย่างอื่นและมีสามีได้ในตอนนั้น

นอกจากหน้าที่คอยเติมไฟศักดิ์สิทธิ์มิให้ขาดเชื้อแล้ว พรหมจารีเวสตัลยังมีภาระกิจที่จะต้องกระทำอีก 2 อย่าง อย่างหนึ่งคือ ต้องไปตักน้ำจากบ่อน้ำพุ อิจีเรีย (Egeria) ที่ชานกรุงโรมทุกวัน ความสำคัญของน้ำพุนี้มีตำนานเล่ากันว่า เดิมอิจีเรียเป็นนางอัปสรบริวารของเทวีอาร์เทมิส นางมีความเฉลียวฉลาด และเป็นคู่หูของ ท้าวนูมาปอมปิเลียส ซึ่งโปรดหารือการแผ่นดินทั้งปวงกับนางมิได้ขาด กวีโอวิคถึงแก่ระบุว่า นางเป็นชายาของท้าวนูมาด้วยซ้ำ แต่กวีคนอื่นกล่าวว่านางเป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น อิทธิพลของชื่ออิจีเรียมีเพียงใดจะเห็นได้จากตอนท้าวนูมาบัญญัติกฎหมายและระเบียบตามแบบแผนใหม่ๆ มักจะประกาศแก่ราษฎรว่ากฎหมายและระเบียบแบบแผนนั้นๆ ได้รับการเห็นชอบของนางอิจีเรียแล้วด้วยเสมอ เมื่อท้าวนูมาทิวงคต นางอิจีเรียเศร้าโศกนักหนา เอาแต่ร้องไห้คร่ำครวญจนกลายเป็นน้ำพุไป ชาวโรมันจึงถือกันว่า น้ำพุอิจีเรียเป็นน้ำพุบริสุทธิ์ด้วยเหตุนี้

หน้าที่พิเศษของพรหมจารีเวสตัลนั้นได้แก่การอารักขาวัตถุลึกลับและศักดิ์สิทธิ์มากอันหนึ่ง เรียกว่า
พัลเลเดียม (Palladium)
เชื่อกันว่าเป็นวัตถุที่อีเนียสนำไปจากกรุงทรอย แต่ไม่มีใครนอกจากคณะเวสตัลทราบว่าเป็นอะไรกันแน่ บ้างว่าเป็นรูปประติมาของ เจ้าแม่อธีนา แต่บ้างก้ว่าเป็นโล่อันหนึ่งตกลงมาจากสวรรค์ เมื่อครั้งศึกกรุงทรอย พวกกรุงทรอยถือเป็นของคู่เมืองว่าตราบใดของนี้ยังอยู่ ในกรุงทรอย ตราบนั้นบ้านเมืองจะไม่แตกเป็นอันขาด ต่อเมื่อยูลิซิสกับไดโอมิดิสทหารเอกฝ่ายกรีกลักเอา ของนี้ไป กรุงทรอย จึงแตก แต่มีตำำนานหลายเรื่องแก้ว่าทรอยแตกเพราะเสียขวัญ และเสียกลแก่กรีก มากกว่า ด้วยว่าของที่
กรีกขโมยไปนั้นเป็นของปลอมที่ฝ่ายกรุงทรอยทำเอาไว้กันของแท้ถูกขโมย ส่วนพัลเลเดียมของจริงยังอยู่ในกรุงทรอย เมื่อพวกกรีกเข้าเมืองได้ อีเนียสพาเอาไปด้วยจนถึงอิตาลี แล้วภายหลังชาวโรมันเอาเก็บรักษาไว้ในที่ซ่อนมิดชิดในวิหารเจ้าแม่เฮสเทีย อยู่ในความอารักขาคุ้มครองของคณะเวสตัลพรหมจารีอย่างเคร่งครัด

พรหมจารีเวสตัลไม่แต่จะมีหน้าที่สำคัญดังกล่าวแล้วเท่านั้น หากยังมีเอกสิทธิ์เหนือสามัญชนหลายประการอีกด้วย อาทิเช่น เมื่อมีงานเฉลิมฉลองสมโภช การเล่นรื่นเริงและการแข่งขันสาธารณะ เขาจัดที่พิเศษสำหรับคณะเวสตัลพรหมจารีโดยเฉพาะเป็นเกียรติยศ เมื่อเวสตัลพรหมจารีไปต่างแดน จะมีเจ้าพนักงานถือมัดขวานเรียกว่า fasces นำหน้าเป็นเครื่องหมายถึงอำนาจเทียบเท่าอำนาจตุลาการ มัดขวานนั้นคือขวานที่หุ้มด้วยไม้กลมเล็กๆ กระหนาบรอบขวานมัดไว้ด้วยกันส่วนขวานโผล่บน ยอดหันคมออก เป็นของสำหรับเจ้าพนักงานถือนำหน้าตุลาการ แสดงถึงอำนาจในการตัดสินอรรถคดี เมื่อพรหมจารีเวสตัลให้การเป็นพยานในศาล สถิตยุติธรรมก็ไม่ต้องสาบานว่าจะพูดความจริง เพียงให้การลุ่นๆ เท่านั้นศาลก็รับฟัง ถ้าบังเอิญเวสตัลคนหนึ่งคนใดพบนักโทษเข้า ในระหว่างทางที่เขาพาเอาไปจะประหารชีวิต ถ้าพึงประสงค์ก็อาจจะให้อภัยโทษปล่อยนักโทษนั้นให้เป็นไทได้ ณ ที่นั้นโดยพลการ

ชาวโรมันนับถือเจ้าแม่เฮสเทียมั่นคงตลอดมาจนลุถึงคริสตศักราชปีที่ 380 จึงยุติ ด้วยอธิราช ธีโอโดเซียสให้ระงับการ เติมไฟศักดิ์สิทธิ์ และยุบเลิกคณะพรหมจารีเวสตัลเสีย

เทพีดิมิเทอร์ (Demeter) หรือ ซีริส (Ceres) เทพีแห่งการเก็บเกี่ยว


ซุสมีเทวีภคินี 3 องค์ ในจำนวนนี้ 2 องค์เป็นคู่พิศวาสของซุส องค์หนึ่งคือเจ้าแม่เฮรา อีกองค์มีนามว่า ดีมิเตอร์ (Demeter) ตามชื่อกรีกหรือภาษาโรมันว่า ซีริส (Ceres) เป็นเทวีครองข้าวโพด ซึ่งหมายถึงการเกษตรกรรม

เจ้าแม่ดีมิเตอร์มีธิดาองค์หนึ่งทรงนามว่า พรอสเสอะพิน (Proserpine) หรือ เพอร์เซโฟนี (Persephone) เป็นเทวีครองฤดูผลิตผลของพืชทั้งปวง เพื่ออธิบายธรรมชาติของการผลัดฤดู กวีกรีกโบราณจึงผูกเรื่อง ให้เทวีองค์นี้ถูกฮาเดสลักพาตัวไปเป็นคู่ครองในยมโลก ดังมีเรื่องพิสดารดังนี้ ฮาเดสปกครองยมโลกอยู่คนเดียว โดดเดี่ยวไร้คู่ปฏิพัทธ์มาเป็นเวลานาน หามีเทวีองค์ใดไยดีที่จะร่วมเทวบัลลังก์ด้วยไม่ เทวีแต่ละองค์ที่ฮาเดสทอดเสน่หา ต่างองค์ต่างก็ไม่สมัครรักใคร่ ด้วยไม่ปรารถนาจะลงไปอยู่ในใต้หล้าแดนบาดาล อันดวงสุริยาไม่สามารถทอแสงลงไปถึง ทำให้ฮาเดสมึนตึงหมางหทัยนัก ในที่สุดจึงต้องตั้งปณิธานจะไม่ทอดเสน่หาใครอีกเป็นอันขาด หากปฏิพัทธ์สวาทกับใครก็จะฉุดคร่าพาเอาลงไปบาดาลดื้อๆ

วันหนึ่งเพอร์เซโฟนีพร้อมเพื่อนชวนกันไปเที่ยวสวนดอกไม้ บังเอิญฮาเดสขับรถทรงแล่นผ่านมาทางนั้น จึงหยุดรถทรง ครั้นพบเทวีรุ่นสะคราญทรงโฉม วิลาสลิไลนักให้นึกรัก จะเอาไปไว้ในยมโลก เธอจึงก้าวกระชากชิงอุ้มเพอร์เซโฟนีเทวีขึ้นรถไปในทันที ฮาเดสขับรถเร่งไปจนถึงแม่น้ำ ไซเอนี (Cyane) ซึ่งขวางหน้าอยู่เห็นน้ำในแม่น้ำเกิดป่วนพล่านแผ่ ขยายท่วมท้นตลิ่งสกัดกั้นเธอเอาไว้ จึงชักรถไปทางอื่น ใช้มือถือคู่หัตถ์มีง่าม 2 แฉก กระแทกกระทุ้งแผ่นดินให้แยกออกเป็นช่องแล้วขับรถลงไปยังบาดาล ในขณะเดียวกันนั้นเพอร์เซโฟนีก็แก้สายรัดองค์ขว้างลงในแม่น้ำ ไซเอนี พลางร้องบอกนางอัปสรประจำแม่น้ำให้เอาไปถวายเจ้าแม่ดีมิเตอร์ ผู้มารดาด้วย

ฝ่ายดีมิเตอร์แม่โพสพกลับมาจากทุ่งข้าวโพดไม่เห็นธิดา เที่ยวเพรียกหาก็ไม่พานพบวี่แววอันใด เว้นแต่ดอกไม้ตกเรี่ยราดกลาดเกลื่อนอยู่ เจ้าแม่เที่ยวหากระเซอะกระเซิงไปตามที่ต่างๆ พลางกู่เรียกไปจนเวลาเย็นให้อาดูรโทมนัสนัก ล่วงเข้าราตรีกาลเจ้าแม่ก็ไม่หยุดพักการเสาะหาธิดา จนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่ แม้กระนั้นเจ้าแม่ก็ไม่ลดละความพยายาม คงดั้นด้นเรียกหาธิดาไปตามทางอีก มิได้ห่วงถึงภาระหน้าที่ประจำที่เคยปฏิบัติแต่อย่างใด ดอกไม้ทั้งปวงจึงเหี่ยวเฉาเพราะขาดฝนชะโลมเลี้ยง ติณชาติตายเกลี้ยงไม่เหลือเลย พืชพันธุ์ธัญญาหารถูกแดดแผดเผาซบเซาหมด ในที่สุดเจ้าแม่ก็สิ้นหวังระทดระทวยหย่อนองค์ลงนั่งพักที่ริมทางใกล้นครอีลูสิส ความระทมประดังขึ้นมาสุดที่จะหักห้าม เจ้าแม่ก็ซบพักตร์กันแสงไห้ตามลำพัง

เพื่อมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดรู้จัก เจ้าแม่ดีมิเตอร์ได้จำแลงองค์เป็นยายแก่ ในขณะที่เจ้าแม่นั่งพัก พวกธิดาของเจ้านครอีลูสิสรู้ว่ายายแก่มานั่งคร่ำครวญคิดถึงลูก บังเกิดความสังเวชสงสาร และเพื่อที่จะให้ยายหายโศกเสร้า นางเหล่านั้นจึงชวนยายแก่เข้าไปในวังให้ดูแลกุมาร ทริปโทลีมัส (Triptolemus) ผู้น้อง ซึ่งยังเป็นทารกแบเบาะอยู่ เจ้าแม่ดีมิเตอร์ยอมรับภาระนี้ พอลูบคลำโอบอุ้มทารก ทารกก็เปล่งปลั่งมีนวลขึ้นเป็นที่อัศจรรย์แก่เจ้านครและบริวารยิ่งนัก ตกกลางคืนขณะที่เจ้าแม่อยู่ตามลำพังกับทารก เจ้าแม่คิดใคร่จะให้ทารกได้ทิพยภาพเป็นอมรรตัยบุคคล จึงเอาน้ำต้อยเกสรดอกไม้ชะโลมทารกพลางท่องบทสังวัธยายมนต์ แล้ววางทารกลงบนถ่านไฟอันเร่าร้อน เพื่อให้ไฟลามเลียเผาผลาญธาตุมฤตยูที่ยังเหลืออยู่ในกายทารกให้หมดสิ้น ฝ่ายนางพญาของเจ้านครยังไม่วางใจยายแก่นัก ค่อยย่องเข้าไปในห้องเพื่อคอยดู ประจวบกับตอนเจ้าแม่ดีมิเตอร์กำลังทำพิธีชุบทารกอยู่พอดี นางตกใจนัก หวีดร้องเสียงหลง พลางถลันเข้าฉวยบุตรออกจากไฟ ครั้นเห็นบุตรสุดสวาทไม่เป็นอันตรายแล้ว จึงหันกลับมาจะไล่เบี้ยเอากับยายแก่เสียให้สาสมกับความโกรธแค้น แต่แทนที่จะเห็นยายแก่ กลับเห็นรูปเทวีประกอบด้วยรัศมีเรืองรองอยู่ตรงหน้า เจ้าแม่ตรัสพ้อนางพญาโดยสุภาพ ในการที่เข้าไปขัดขวางการพิธีเสีย ทำให้มนต์เสื่อมและชุบทารกอีกไม่ได้ แล้วเจ้าแม่ดีมิเตอร์ก็ออกจากเมืองอีลูสิสเที่ยวหาธิดาต่อไป

วันหนึ่งเจ้าแม่ดีมิเตอร์พเนจรเลียบฝั่งแม่น้ำอยู่ พลันได้ประสบวัตถุแวววาวสิ่งหนึ่งอยู่แทบบาท เจ้าแม่จำได้ทันทีว่าเป็นวายรัดองค์ของธิดาที่ได้ฝากนางอัปสรแห่งแม่น้ำไซเอนีไว้เมื่อตอนรถทรงของฮาเดสจะลงสู่บาดาล เจ้าแม่ได้ของสิ่งนี้ยินดียิ่งนัก แสดงว่าธิดาอยู่ใกล้ที่นั้น จึงรีบดำเนินไปจนถึงน้ำพุแก้วแห่งหนึ่ง รู้สึกเมื่อยล้า จึงลงพักทอดองค์ตามสบาย พอรู้สึกเคลิ้มจะหลับ เสียงน้ำพุก็ดังขึ้นเหมือนเสียงพูดพึมพำ ในที่สุดเจ้าแม่ก็จับความได้ว่า เป็นการแจ้งข่าวของธิดา น้ำพุเล่าประวัติของตนเองว่า เดิมตนเป็นนางอัปสรขื่อว่า แอรีธูสะ (Arethusa) บริวารของเทวี อาร์เทมิส (Artemis) วันหนึ่งลง อาบน้ำในแม่น้ำ แอลฟีอัส (Alpheus) เทพประจำน่านน้ำนั้นหลงรัก แต่นางไม่ไยดีด้วยจึงหนีไป ส่วนเทพนั้นก็ติดตามไม่ลดละ นางหนีเตลิดข้ามเขาไปตลอดแว่นแคว้น ซ้ำผ่านแดนบาดาลไปตลอดอาณาเขตของฮาเดส ได้เห็นเพอร์เซโฟนีประทับบัลลังก์อาสน์อยู่ในที่ราชินีแห่งยมโลก ครั้นกลับขึ้นมาอ่อนแรงเห็นไม่พ้นเทพแอลฟีอัส นางเสี่ยงบุญอธิษฐานยึดเอาเจ้าแม่ของนางเป็นที่พึ่ง เทวีเดียนาจึงโปรดบันดาลให้นางกลายเป็นน้ำพุอยู่ ณ ที่นั่น

เมื่อได้รู้ถึงที่อยู่ของธิดาดังนี้แล้ว เจ้าแม่ดีมิเตอร์จึงรีบไปอ้อนวอนเทพปริณายกให้ช่วย ซุสอนุโลมตามคำวอนขอ โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าเพอร์เซโฟนีไม่ได้เสพเสวยสิ่งใดในระหว่างที่อยู่บาดาล จะให้ฮาเดสส่งเพอร์เซโฟนีขึ้นมาอยู่กับมารดา แล้วมีเทวบัญชาให้เฮอร์มีสลงไปสื่อสารแก่ฮาเดสในยมโลก เจ้าแดนบาดาลจำต้องยอมโอนอ่อนจะส่งเพอร์เซโฟนีคืนสู่เจ้าแม่ดีมิเตอร์ แต่ในขณะนั้นภูตครองความมืดเรียกว่า แอสกัลละฟัส (Ascalaphus) ร้องประกาศขึ้นว่า ราชินีแห่งยมโลกได้เสวยเมล็ดทับทิมแล้ว 6 เมล็ด ในที่สุดจึงตกลงกันเป็นยุติว่า ในปีหนึ่งๆ ให้เพอร์เซโฟนีเทวีอยู่กับฮาเดสในยมโลก 6 เดือน สำหรับเมล็ดทับทิมที่เสวยเมล็ดละเดือน แล้วให้กลับขึ้นมาอยู่กับมารดาบนพิภพอีก 6 เดือน สลับกันอยู่ทุกปีไป ด้วยเหตุนี้เมื่อเพอร์เซโฟนีเทวีอยู่กับมารดา โลกจึงอยู่ในระยะกาลของวสันตฤดู พืชพันธุ์ธัญญาหารนานาชนิดผลิดอก ออกผล และเมื่อเพอร์เซโฟนีเทวีลงไปอยู่ในบาดาล โลกก็ตกอยู่ในระยะกาลของเหมันตฤดู พืชผลทั้งปวงร่วงหล่นซบเซา อันเป็นความเชื่อของชาวกรีกและโรมันโบราณ

เมื่อเจ้าแม่ดีมิเตอร์พบธิดาแล้วก็กลับไปยังเมืองอีลูสิสอีก เพราะว่าเจ้าครองนครกับนางพญาปลูกวิหารถวายเจ้าแม่ไว้ที่นั่น เพื่อให้มนุษย์รู้จักการทำไร่ไถนา เจ้าแม่ได้สั่งสอนทริปโทลีมัส ซึ่งเติบโตเจริญวัยเป็นผู้ใหญ่แล้ว ให้รู้จักใช้ไถ จอบ และเคียว สั่งสอนชาวนาสืบๆ กันมาจนตราบเท่าบัดนี้

เทพีเฮรา หรือ เฮรา (Hera) หรือ จูโน (Juno)


เฮรา (Hera) หรือภาษาโรมันว่า จูโน (Juno) เป็นราชินีของเทพธิดาทั้งหลายเพราะเป็นชายาของซุส เฮราเป็นธิดาองค์ใหญ่ของเทพไทแทนโครนัสกับเทพมารดารีอา ต่อมาในตอนหลังได้อภิเษกสมรสกับ ซุสเทพบดีอนุชาของนาง ทำให้นางกลายเป็นราชินีสูงที่สุดในสวรรค์ชั้นโอลิมปัส ที่ไม่ว่าผู้ใดก็คร้ามเกรง เทวีเฮราไม่ชอบนิสัยเจ้าชู้ของซุส ด้วยเหตุที่ซุสเป็นคนเจ้าชู้ ทำให้เฮรากลายเป็นคนขี้หึง และคอยลงโทษหรือพยาบาทคนที่มาเป็นภรรยาน้อยของซุสอยู่เสมอ เมื่อแรกที่ซุสขอแต่งงานด้วย เฮราปฏิเสธ และปฏิเสธเรื่อยมาจนถึง 300 ปี วันหนึ่งซุสคิดทำอุบายปลอมตัวเป็นนกกาเหว่าเปียกพายุฝนไปเกาะที่หน้าต่าง เฮราสงสาร ก็เลยจับนกมาลูบขนพร้อมกับพูดว่า "ฉันรักเธอ" ทันใดนั้น ซุสก็กลายร่างกลับคืน และบอกว่าเฮราต้องแต่งงานกับพระองค์

แต่ทว่าชีวิตการครองคู่ของเทวีเฮรากับเทพปริณายกซุสไม่ค่อยราบรื่นเท่าใดนัก มักจะทะเละเบาะแว้ง เป็นปากเสียงกันตลอดเวลา จนเป็นเหตุให้ชาวกรีกโบราณเชื่อกันว่า ในเวลาที่เกิดฟ้าคะนองดุเดือดขึ้นเมื่อไร นั่นคือสัญญาณว่าซุสกับเฮราต้องทะเลาะกันเป็นแน่ เพราะ 2 เทพนี้เป็นสัญลักษณ์ของสรวงสวรรค์ เมื่อท้องฟ้าเกิดอาเพศ ก็เหมาเอาว่าเป็นเพราะการขัดแย้งรุนแรงของเทพคู่นี้

แม้ว่าเทวีเฮรามีศักดิ์ศรีเป็นถึงราชินีแห่งสวรรค์หรือเทพมารดาแทนรีอา แต่ความประพฤติและอุปนิสัยของเจ้าแม่ไม่อ่อนหวาน และมีเมตตาสมกับเป็นเทพมารดาเลย โดยประวัติของเจ้าแม่นั้นมีทั้งโหดร้าย ไร้เหตุผล เจ้าคิดเจ้าแค้นและอาฆาตพยาบาทจนถึงที่สุด ผู้ใดก็ตามที่ถูกเทวีเฮราอาฆาตไว้ มักมีจุดจบที่ไม่สวยงามนัก ว่ากันว่าชาวกรุงทรอยทั้งเมืองล่มจมลงไปเพราะเพลิงอาฆาตแค้นของเจ้าแม่เฮรานี้เอง สาเหตุเกิดจากเจ้าชายปารีสแห่งทรอยไม่เลือกให้เจ้าแม่ชนะเลิศในการตัดสินความงามระหว่าง 3 เทวีแห่งสวรรค์ คือเทวีเฮรา เทวีเอเธนา และเทวีอโฟรไดท์

รูปเขียนรูปสลักของชาวกรีกโบราณมักทำรูปของเจ้าแม่เฮราเป็นเทวีวัยสาวที่สวยสง่า ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น ว่ากันว่ามีคนหลงใหลความงามของเจ้าแม่จนคลั่งไคล้หลายคน โดยเฉพาะ อิกซิออน (Ixion) ราชาแห่ง ลาปิธี (Lapithae) ต่อมาถูกซุสเทพบดีลงโทษอย่างรุนแรง และบางทีอาจเป็นเพราะทรนงตนว่ามีสิริโฉมงดงามก็ได้ ที่ทำให้เทวีเฮราเป็นเดือดเป็นแค้นนักที่สวามีปันใจให้สตรีอื่น จึงต้องราวีอย่างถึงที่สุดเสมอ ความร้ายกาจของเจ้าแม่เคยถึงขนาดคิดปฏิวัติโค่นอำนาจของสวามีจนเกือบสัมฤทธิ์ผล

เรื่องมีอยู่ว่า เจ้าแม่โกรธแค้นความไม่ซื่อสัตย์ของสวามีขึ้นมาอย่างเต็มกลืน จึงร่วมมือกับเทพโปเซดอน จ้าวสมุทร เชษฐาของซุสเอง และเทพอพอลโลกับเทวีอธีนาด้วย ช่วยกันกลุ้มรุมจับองค์เทพซุสมัดพันธการไว้แน่นหนา จนเป็นเหตุให้เทพปริณายกซุสจวนเจียนจะสูญเสียอำนาจอยู่รำไร ก็พอดีชายาอีกองค์ของซุสนามว่า มีทิส (แปลว่าภูมิปัญญา) ได้นำผู้ช่วยเหลือมากู้สถานการณ์ทันเวลา โดยไปพา อาอีกีออน (Aegaeon) ซึ่งเป็นอสูรร้อยแขนที่น่าประหวั่นพรั่นพรึงมาช่วยเหลือเทพบดีซุส อสูรตนนี้มีฤทธิ์อำนาจมากเสียจนเทพเทวาน้อยใหญ่ต้องยอมศิโรราบไปตามๆ กัน เมื่ออาอีกีออนมาแก้ไขให้ซุส และนั่งเฝ้าอยู่ข้างบัลลังก์ของซุส บรรดาผู้คิดกบฎปฎิวัติก็หน้าม่อย ชวนกันหนีหน้าไปหมด แผนการณ์จึงล้มครืนด้วยประการฉะนี้

องค์เทพซุสเองก็เคยร้ายกาจกับราชินีเทวีเฮราเหมือนกัน ทรงลงโทษลงทัณฑ์แก่เจ้าแม่อย่างไม่ไว้หน้าอยู่บ่อยๆ นอกจากทุบตีอย่างรุนแรงแล้ว ซุสยังใส่โซ่ตรวนที่บาทของเจ้าแม่กับผูกข้อหัตถ์และพาหาติดกันมัดโยงโตงเตงอยู่บนท้องฟ้า จนเป็นเหตุให้เกิดตำนานเกี่ยวกับเทพ ฮีฟีสทัส ขึ้นมาว่า จากการวิวาทครั้งนี้ เทพฮีฟีสทัสผู้เป็นโอรสเข้าขัดขวางมิให้พระบิดากระทำรุนแรงแก่พระมารดา ซุสเทพบดีที่กำลังโกรธกริ้ว จับตัวฮีฟีสทัสขว้างลงมาจากสวรรค์ กลายเป็นเทพพิการไปเลย

เทวีเฮรานอกจากขี้หึงแล้ว ยังช่างริษยามากอีกด้วย ครั้งหนึ่งเมื่อซุสทรงมีราชธิดานามว่า อธีนา ออกมาได้โดยไม่ต้องพึ่งใคร นางกระโดดออกจากเศียรของซุสเอง เจ้าแม่เฮราก็ริษยายิ่งนัก ตรัสว่าเมื่อสวามีทรงมีกุมารีด้วยองค์เองได้ นางเองก็มีได้เช่นกัน ทว่าบุตรที่เกิดจากตัวเจ้าแม่เองนั้นกลับมิได้สะสวย เรืองฤทธิ์เช่นอธีนา แต่กลับเป็นอสูรร้ายน่าเกลียดน่ากลัวยิ่ง (แต่บางตำนานกล่าวว่าบุตรที่จากเทวีเฮราก็คือ ฮีฟีทัสนั่นเอง) คืออสูรร้าย ไทฟีอัส (Typheus) ซึ่งผู้ใดเห็นก็หวาดกลัว เลยทำให้เทพปริณายกซุสกริ้วใหญ่ และการวิวาทบาดหมางก็เกิดขึ้นอีก

เจ้าแม่เฮรามีโอรสธิดากับเทพบดีซุส 4 องค์ นามว่า เฮบี (Hebe), อิลลิธธียา (Ilithyia), เอเรส (Ares), และฮีฟีสทัส (Hephaestus) เทพ 2 องค์หลังนี้เป็นที่รู้จักกันดี เพราะเทพเอเรส คือ เทพแห่งสงคราม ส่วนเทพฮีฟีสทัสคือเทพถลุงเหล็กหหรือเทพแห่งงานช่าง

แม้ว่าชีวิตสมรสของเจ้าแม่เฮราจะไม่ราบรื่นนัก แต่ในฐานะที่เป็นราชินีหรือเป็นมารดาแห่งสวรรค์ เฮราเป็นเทพที่คุ้มครองการแต่งงาน มีหลายครั้งที่เธอคอยดลใจให้วีรบุรุษได้แสดงความกล้าหาญ จึงทำให้เป็นที่เคารพนับถือในเขตโอลิมปัส เทวาลัยที่เป็นที่บูชาขนาดใหญ่ที่สุดของเทวีเฮราอยู่ที่เมืองอาร์กอสเรียกว่า เดอะ เฮราอีอุม (Heraeum)

สัญลักษณ์ของเฮราคือ วัว นกยูง และสิงโต พฤกษาประจำตัวของเจ้าแม่คือ ผลทับทิม และนกแขกเต้า

08 มกราคม 2552

เทพฮาเดส (Hades) หรือ พลูโต (Pluto) เทพแห่งความตาย ผู้ครอบครองดินแดนยมโลก


ในตำนานกรีกโบราณ เทพผู้เป็นใหญ่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า โปเซดอน อีกองค์หนึ่งก็คือ ฮาเดส (พลูโต Pluto ในภาษาโรมัน) จอมแดนบาดาลหรือยมโลกและคนตาย ต่างก็อยู่ในความปกครองของเทพองค์นี้ทั้งหมด คำว่า "พลูโต" นี้มีความหมายว่า เทพแห่งทรัพย์ เพราะถือกันว่านอกจากยมโลกแลัว ฮาเดสยังครองมวลธาตุล้ำค่าใต้พื้นพิภพอีกด้วย บางทีจึงมีชื่อว่า ดีส (Dis) แปลตรงตัวว่า ทรัพย์ (บางแห่งกล่าวว่า ฮาเดสครองยมโลกและคนตายเท่านั้น ส่วนเทพผู้ครองความตายนั้นมีอีกองค์หนึ่ง เรียกว่า แธนาทอส (Thanatos) ในภาษากรีก หรือ ออร์คัส (Orcus) ในภาษาโรมัน เป็นคู่กันกับ ฮิปนอส (Hpnos) เทพประจำความหลับ) แม้ว่าเทพฮาเดสอยู่ในเหล่าเทพแห่งเขาโอลิมปัส แต่ก็ไม่ค่อยจะได้ออกจากยมโลกขึ้นไปยังเขาโอลิมปัสเท่าไหร่นัก ฮาเดสเองก็ไม่ใช่แขกที่ใครๆ ยินดีต้อนรับ เพราะแม้แต่เทพเจ้าด้วยกันเองยังกลัว เนื่องจากฮาเดสปราศจากความเวทนาสงสาร แต่กอปรด้วยความยุติธรรม

ภายในยมโลกนั้น ชาวกรีกในสมัยโบราณเชื่อว่า ดวงวิญญาณของคนทุกคุณ เมื่อสิ้นชีวิตแล้วจะถูกพาไปรับคำพิพากษาของคณะเทพสุภาในยมโลก ซึ่งอยู่ในชั้นบาดาลใต้พื้นพิภพ เป็นอาณาจักรอยู่ในความปกครองของเทพฮาเดส การพาดวงวิญญาณคนตายลงไปยังบาดาลเป็นหน้าที่ของเฮอร์มิส เทพพนักงานสื่อสารของซุส ซึ่งตำแหน่งของยมโลกนี้บ้างก็ว่าอยู่ใต้สถานที่เร้นลับของโลก บ้างก็ว่าทางลงอยู่ที่ขอบพิภพโดยข้ามมหาสมุทรไป ส่วนกวีในขั้นหลังๆ จึงบอกว่าทางลงมีหลายทางนั้นเอง ซึ่งทางลงนั้นนำไปถึงแม่น้ำแห่งความวิปโยค ชื่อว่า แอกเคอรอน (Acheron) แม่น้ำนี้ไหลไปสู่แม่น้ำอีกสายหนึ่งเรียกว่าแม่น้ำแห่งความกำสรวลชื่อ โคไซทัส (Cocytus) ตรงที่แม่น้ำทั้งสองสายนี้บรรจบกัน มีคนเรือจ้างแก่ๆ คนหนึ่งชื่อว่า เครอน (Charon) คอยรับวิญญาณข้ามฟากไปสู่ยังประตูแข็งแกร่งดังเหล็กเพชร ซึ่งเป็นทางเข้าตรุลึกลงไปเรียกว่า ทาร์ทารัส (Tartarus) ส่วนเขตชั้นนอกที่ผ่านมาแล้วเรียกว่า เออรีบัส (Erebus) เครอนจะรับลงเรือแต่เฉพาะดวงวิญญาณที่มีเงินเบิกทางติดปากไป และได้ผ่านพิธีฝังเรียบร้อยแล้วเท่านั้น อันนี้เห็นจะเป็นเหตุของชาวกรีก สำหรับประเพณีเอาเงินใส่ปากคนตายก่อนฝัง ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังทำตามๆ กันอยู่หลายชาติ

ที่หน้าประตูทางเข้าตรุทาร์ทารัส มีสุนัขเฝ้าตัวหนึ่งเรียกว่า เซอร์บิรัส (Cerberus) มีหัวสามหัว หางเป็นหางมังกร มันจะยอมให้วิญญาณของคนทุกคนเข้าประตู แต่จะไม่ยอมให้กลับออกมาเป็นอันขาด เมื่อไปถึงประตูนี้ วิญญาณแต่ละดวงจะถูกพาไปรับคำพิพากษาของสามเทพสุภา คือ แรดดะแมนธัส,ไมนอส และ อือคัส วิญญาณที่ชั่วร้ายจะถูกพิพากษาให้ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ในตรุทาร์ทารัสไปชั่วกัลป์ ส่วนวิญญาณที่ดีจะได้รับคำพิพากษาให้พาไปอยู่ยังทุ่งอีลิเซียน แดนสุขาวดีของกรีกที่เคยกล่าวถึงมาแล้ว

นอกจากแม่น้ำแอกเคอรอนกับโคไซทัสที่เอ่ยถึง ยังมีแม่น้ำอื่นอีกสามสายคั่นบาดาลไว้ต่างหากจากพิภพเบื้องบน สายหนึ่งมีชื่อว่า เฟลจีธอน (Phlegethon) เป็นแม่น้ำไฟ สายที่สองชื่อ สติกส์ (Styx) เป็นแม่น้ำสาบานของเทพทั้งปวง สายที่สามชื่อ ลีธี (Lethe) แม่น้ำแห่งความลืม หรือแม่น้ำล้างความทรงจำ สำหรับให้ดวงวิญญาณในตรุทาร์ทารัสดื่มเพื่อล้างความจำในชาติก่อนให้หมด

อนึ่ง นอกจากคณะเทพสุภาแห่งยมโลก ยังมีคณะเทวีทัณฑกรอีกคณะหนึ่งประจำอยู่ในยมโลกเช่น กัน เรียกว่า อิรินนีอิส (Erinyes) ทำหน้าที่ลงทัณฑ์แก่ดวงวิญญาณของผู้ประพฤติผิดทำนองคลองธรรมในมนุษย์โลก ในชั้นเดิมเทวีทัณฑกรคณะนี้มีหลายองค์ แต่ในที่สุดมีเหลือที่กล่าวนามเพียงสาม คือ ไทสิโฟนี (Tisiphone) มีจีรา (Megaera) และ อเล็กโต (Alecto) แต่ละองค์มีรูปลักษณะดุร้ายน่ากลัว มีงูพันเศียรยั้วเยี้ย ใครๆ ที่ทำบาปกรรมไว้ในโลกมนุษย์ จะหนีทัณฑกรรมที่เทวีทั้งสามลงเอาไว้ไม่พ้นไปได้เลย ภาษาอังกฤษเรียกเทวีทั้งสามนี้โดยรวมๆ กันไปว่า The Furies

เนื่องด้วยอุปนิสัยของเทพฮาเดส จ้าวแดนบาดาล ออกจะเย็นชาแข็งกร้าว ปราศจากความเวทนาสงสารให้แก่ผู้ใด แต่เต็มไปด้วยความยุติธรรมทุกขณะ เช่นนี้ จึงเป็นเหตุให้ฮาเดสยากจะหาสตรีมาเป็นชายาครองบัลลังก์ปรโลกคู่กันได้เลย ดังนั้นเมื่อฮาเดสเสด็จขึ้นมาบนพื้นพิภพในวันหนึ่ง และประสบพบพานโฉมงามนาม เพอร์เซโฟนี (Persephone) ธิดาองค์เดียวของเจ้าแม่โพสพ เทวีดีมีเตอร์ เข้าให้ ฮาเดสลืมเลือนไปหมดสิ้นว่า อนงค์นางนี้ที่แท้จริงคือหลานในไส้ของตน เพราะว่า ดีมิเตอร์เทวีเป็นน้องนางของพระองค์นั่นเอง จ้าวแห่งแดนบาดาลจึงไม่รอช้า ฉุดคร่าเอาตัวเพอร์เซโฟนีลงไปสู่ดินแดนใต้พิภพ เพื่อครองคู่เป็นราชินีปรโลกด้วยความมิเต็มใจของนาง

ครั้นเมื่อซุสเทพบดีทรงตัดสินความให้เทพฮาเดสส่งเพอร์เซโฟนีคืนแก่พระมารดา ฮาเดสก็ใช้เล่ห์เพทุบายลวงให้นางต้องมาหาท้าวเธอปึละ 3 เดือนทุกปีไป ดังนั้นในปึหนึ่งๆ ฮาเดสจึงเป็นพ่อม่ายอยู่ถึง 9 เดือน มีเวลาได้ร่วมเขนยกับมิ่งมเหสีเพียงปีละ 3 เดือนเท่านั้น แต่ทั้งที่ต้องประทับอยู่อย่างเดียวดายนานถึงปึละ 9 เดือน เทพฮาเดสก็พิสูจน์องค์เองว่าเป็นสวามีที่ซื่อสัตย์พอสมควร ตลอดเรื่องราวประวัติของฮาเดสปรากฏว่า ฮาเดสมีเรื่องนอกใจชายาเพียง 2 ครั้งเท่านั้น

ครั้งหนึ่งได้แก่ ทรงหลงเสน่ห์ความน่ารักของนางอัปสรนามว่า มินธี (Minthe) แต่ทว่าความรักนี้มิยั่งยืน ด้วยเหตุที่พระแม่ยายดีมิเตอร์เทวีทรงร้ายเหลือ ทั้งๆ ที่ไม่ชอบหน้าฮาเดสเท่าใดนัก แต่เมื่อท้าวเธอทำท่าจะนอกใจธิดาของตนเข้าให้ เจ้าแม่ก็พิโรธโกรธเกรี้ยวจนกระทั่งไล่กระทืบมินธีนางอัปสรผู้น่าสงสารตายคาบาทของเจ้าแม่ จ้าวแดนบาดาลเวทนาสงสารนางอัปสรน้อยนั้น จึงเปลึ่ยนร่างของนางให้กลายเป็นพืชชนิดหนึ่งมีกลิ่นหอม และได้กลายเป็นพืชประจำพระองค์ตลอดมา

ส่วนการนอกใจครั้งที่สองนั้นได้แก่ ทรงรักชอบพอกับ นางเลอซี (Leuce) ธิดาของอุทกเทพโอเชียนัส แต่นางเลอซีมีบุญน้อย เพราะป่วยตายเสียก่อนที่จะตายด้วยมือของเจ้าแม่ดีมิเตอร์หรือเพอร์เซโฟนีเทวี หลังจากที่นางตายไปแล้วก็กลายร่างเป็นต้นพ็อปลาร์ขาว ซึ่งกลายเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ในการทำพิธีการลึกลับ ณ เมืองอีเลอซีส แต่ไม้ใหญ่อันเป็นพฤกษชาติประจำองค์ของเทพฮาเดสนั้นกลับเป็นต้นสนเศร้า (Cypress) ส่วนดอกไม้ที่กำเนิดจากมินธีแล้ว ยังได้แก่ดอกขาวบริสุทธิ์ของนาร์ซิสซัส

ผู้คนในสมัยโบราณจะถวายสักการะแด่เทพฮาเดสด้วยแกะดำ ทำให้กลายเป็นพิธีกรรมที่เร้นลับสืบมาที่จะบูชายัญแด่เทพแห่งมรณะหรือเทพแห่งความชั่วร้ายอื่นๆ ด้วยแพะหรือแกะสีดำเช่นเดียวกัน

โปเซดอน (Poseidon) หรือ เนปจูน (Neptune) เทพเจ้าแห่งท้องทะเล


เทพโปเซดอนได้รับการยกย่องว่าเป็นเทพเจ้าสมุทรหรือท้องทะเล โดยคำว่า "สมุทร" หรือ "ทะเล" ในภาษากรีกโบราณนั้นหมายเอาทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นสำคัญ เนื่องจากชาวกรีกในสมัยโน้น มีถิ่นฐานบ้านเมืองอยู่ใกล้ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นส่วนมาก เทพแห่งทะเลจึงมีความสำคัญกับชาวกรีกเป็นธรรมดา

ในกาลก่อนครั้งที่เหล่าเทพไทแทนยังมีอำนาจอยู่นั้น ห้วงมหรรณพทั้งหลายต่างอยู่ในความปกครองของ โอเชียนัส (Oceanus) ครั้นเมื่อเหล่าเทพไทแทนพ่ายแพ้แก่ซุส แลัว ซุสก็ได้แบ่งการปกครองทะเลเมดิเตอร์เรเนียนโดยเด็ดขาด ส่วนโอเชียนัสถูกลดอำนาจให้ได้ครองเพียงห้วงน้ำใหญ่ที่ไหลวนรอบโลก ซึ่งถือว่าไม่มีความสำคัญอะไรเลยสำหรับชาวกรีกสมัยนั้น นอกจากนี้ทะเลยูซินี (ทะเลดำในปัจจุบัน) ก็อยู่ในความปกครองของโปเซดอนเช่นกันอำนาจของเทพโปเซดอนส่วนใหญ่คือ สามารถควบคุมพายุและความสงบในท้องทะเลได้โดยเด็ดขาด ยามเมื่อทรงรถทองคำเหนือน่านน้ำ คลื่นลมทะเลสงบเงียบเรียบลื่นไปตามล้อรถของโปเซดอนโดยตลอด (ในบางตำนานกล่าวว่า เวลาที่เสด็จขึ้นจากประสาทใค้ทะเล ทะเลจะแหวกออกเป็นช่อง มีเสียงดังสนั่นลั่นโครมครืนนำมาก่อน แล้วราชรถทรงทองคำเทียมด้วยม้าฝีเท้าเยี่ยมตัวใหญ่มหึมาก็ค่อยๆ โผล่ขึ้นจากช่องน้ำแยกอย่างสง่างาม) โปเซดอนมีอาวุธที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวเลยก็คือ "ตรีศูล" เมื่อใดที่ต้องการเขย่าโลก ก็เพียงแต่กวัดแกว่งตรีศูลเท่านั้น ทะเลก็ปั่นป่วนเป็นบ้า เป็นเหตุให้โลกสั่นสะเทือน ด้วยเหตุนี้โปเซดอนจึงได้รับสมญานามว่า "ผู้เขย่าโลก" ( Earthshaker ) ด้วยนั่นเอง

ถ้าจะกล่าวถึงอำนาจของโปเซดอนซึ่งปกครองดูแลน่านน้ำทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็น ทะเลลึก ทะเลสาบ แม่น้ำ ลำธาร ละหานห้วย หรือแม้แต่เทพและนางอัปสรประจำน่านน้ำทั้งปวง ยังมีประสาทงดงามตระการตาอยู่ใต้ท้องทะเลเอเจียน นอกจากที่ประทับสวรรค์ชั้นโอลิมปัสแล้ว ดังจะเห็นว่านอกจากซุสเทพบดีแล้ว ไม่มีเทพองค์ใดที่มีอำนาจเกรียงไกรไปกว่าโปเซดอนเลย ที่เห็นก็มีเพียง ฮาเดส เทพครองนรก จ้าวแดนบาดาล ซึ่งทำให้โปเซดอนถึงกับเคยคิดครองความเป็นใหญ่แต่เพียงผู้เดียว โดยร่วมมือกับเทวีเฮรา และเทวีเอเธนา พยายามโค่นซุส แต่ไม่สำเร็จ จึงถูกซุสลงทัณฑ์เนรเทศโปเซดอนให้มาทำงานตรากตรำลำบากบนโลกมนุษย์ในเมืองทรอย โดยต้องสร้างกำแพงกรุงทรอยให้ท้าวลาโอมิดอน (Laomedon) กษัตริย์ในขณะนั้น
ท้าวลาโอมิดอนได้สัญญาว่าจะให้ค่าตอบแทนอย่างงดงามหลังจากที่ได้สร้างกำแพงเสร็จ ถึงแม้ว่างานดังกล่าวเป็นงานที่ยาก แต่หากด้วยในระหว่างนั้นเทพอพอลโล (Apollo) ซึ่งถูกเนรเทศลงมาจากสวรรค์เช่นกัน แต่ต่างสาเหตุกัน อาสาช่วยโปเซดอนสร้างกำแพงอีกแรงโดยดีดพิณให้หินเคลื่อนไปตามอำนาจของกระแสเสียงอันไพเราะ ทำให้ทุ่นแรงไปมาก งานจึงสำเร็จลงโดยเรียบร้อยและรวดเร็ว แต่ทว่าท้าวลาโอมิดอนเป็นกษัตริย์ละโมบและคิดโกง กลับบิดพลิ้วสัญญา ทำให้โปเซดอนคิดแค้น จึงเนรมิตสัตว์ร้ายดังอสุรกายขึ้นจากทะเล เที่ยวไล่กินผู้คนชาวเมืองไปเป็นจำนวนมาก ชาวเมืองจึงตัดสินใจนำสาวพรหมจารีรูปงามพลีให้แก่สัตว์ร้าย โดยผูกไว้กับโขดหินริมทะเลตามคำแนะนำของเจ้าพิธีผู้เข้าทรงในเมือง ปรากฏว่าสัตว์ร้ายดังกล่าวเมื่อกินหญิงสาวแล้วลงทะเลหายไป แต่มันหายไปเพียงปีเดียว ทำให้ชาวเมืองต้องทำการพลีหญิงสาวทุกๆ ปี

ปีแล้วปีเล่าสัตว์ร้ายเฝ้าแต่เวียนมาตามกำหนดคำรบปี และทุกๆ ปีที่มันขึ้นมา ก็จำต้องอุทิศสาวพรหมจารีพล ีให้เสมอ จนในที่สุดชาวเมืองก็เห็นชอบพร้อมกันเลือกลูกสาวท้าวลาโอมิดอนเองชื่อว่า ฮีไซโอนี (Hesione) เพื่อพลีให้กับสัตว์ร้าย ฝ่ายท้าวลาโอมิดอนเองแม้จะไม่อยาก แต่ก็ขัดขวางชาวเมืองไม่ได้ จึงพยายามทุกวิถีทางที่จะช่วยลูกสาวของตน สุดท้ายจึงได้แต่ป่าวประกาศหาชายห้าวหาญที่สามารถฆ่าสัตว์ร้ายได้ โดยสัญญาว่าจะประทานรางวัลให้อย่างงดงาม

ในขณะนั้นเอง เฮอร์คิวลิส (Hercules) ผ่านมาได้ยินข่าว จึงอาสาฆ่าสัตว์ร้ายและช่วยนางฮีไซโอนีได้พอดี เมื่องานสำเร็จท้าวลาโอมิดอนยังไม่ทิ้งนิสัยเดิม กลับเพิกเฉยต่อสัญญาที่ไห้ไว้กับเฮอร์คิวลิส เป็นเหตุให้เฮอร์คิวลิสผูกใจเจ็บ แต่เนื่องด้วยเฮอร์คิวลิสยังมีธุระอื่นที่ต้องทำ ครั้นเสร็จธุระดังกล่าวเฮอร์คิวลิสก็ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกจำนวนหนึ่ง ยกเข้าล้อมกรุงทรอยและตีหักเข้าในเมืองได้ จากนั้นก็ได้จับท้าวเธอฆ่าเสีย ส่วนนางฮีไซโอนีนั้นได้ยกให้ เทลามอน (Telamon) สหายที่ร่วมกันตีเมืองทรอยครั้งนี้

คำมั่นสัญญาที่ท้าวลาโอมิดอนประทานแก่เฮอร์คิวลิสนั้นคือ ถ้าเฮอร์คิวลิสฆ่าสัตว์ร้ายสำเร็จ จะประทานม้างามๆ ฝีเท้าดีให้จำนวนหนึ่งตามที่เฮอร์คิวลิสประสงค์ ซึ่งเมื่อเฮอร์คิวลิสทวงรางวัล พระเชษฐาของนางฮีไซโอนีชื่อ โพดาร์ซีส (Podarces) ได้ทูลแนะนำให้ท้าวเธอให้ปฏิบัติตามสัญญา ดังนั้นเมื่อเฮอร์คิวลิสตีเมืองทรอยแตก จึงไม่ได้ประหารโพดาร์ซึส เพียงแค่จับไว้เพื่อเรียกค่าไถ่ ซึ่งต่อมาชาวกรุงทรอยก็ได้ไถ่ถอนเอากลับคืนไปสถาปนาเป็นกษัตริย์ ทรงนามว่า ไพรอัม (Priam) ต่อไป

ส่วนสัญญาที่ท้าวลาโอมิดอนละเมิดกับเทพโปเซดอนคือ คำบนว่าจะถวายลูกโคกระบือท้องแรกทั้งหมดเป็นเครื่องเซ่นสังเวย ณ แท่นบูชา ซึ่งการที่ท้าวลาโอมิดอนไม่แก้บนตามสัญญา ทำให้เกิดเรื่องวุ่นวายดังกล่าวยังเป็นเหตุทำให้ศึกครั้งสำคัญกรุงทรอยกับกรีก โปเซดอนดำรงในฐานะอริกับกรุงทรอยนั่นเอง

เทพโปเซดอนมีมเหสีนามว่า อัมฟิตริตี (Amphitrite) เป็นธิดาของเทพแห่งธาร เนเรอุส ในตอนแรกที่เทพโปเซดอนขอวิวาห์กับนางนั้น อัมฟิตริตีไม่ยินดีด้วย นางหนีไปหลบซ่อนอยู่ที่อื่น ท้าวเธอจึงใช้ให้ปลาโลมาไปค้นหาจนกระทั่งพบ และนำมาถวายพระองค์ อัมฟิตริตีจึงได้เป็นจอมเทวีแห่งมหาสมุทรเคียงคู่สวามี มีโอรสด้วยกันคือ ไทรตัน

โปเซดอนออกจะโชคดีกว่าซุสเทพบดีตรงที่มีมเหสีสงบเสงี่ยมมากกว่า เทวีอัมฟิตริตีปล่อยให้สวามีเจ้าชู้กับสาวเจ้าอื่นได้โดยไม่หึงหวง ยกเว้นรายเดียวเท่านั้นคือรายของ นางซิลลา (Seylla) ซึ่งเคยเป็นนางไม้สวยงามมาก โปเซดอนหลงรักนางหัวปักหัวปำ จนอัมฟิตริตีเทวีทนไม่ได้ จึงแอบลอบนำยาพิษไปโรยในสระน้ำที่นางซิลลาลงอาบประจำ ทำให้นางกลายร่างจากสาวงามเป็นนางอสูรร้ายที่น่าสะพรึงกลัวไปทันที นับว่าเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่อัมฟิตริตีเทวี กระทำรุนแรงกับชายาของสวามี

ในรูปร่างของม้าอีกเช่นกันที่เทพจ้าวสมุทรแอบไปพิสมัยกับนางอัปสรบริวารของเทวี เอเธน่า นางนั้นคือ เมดูซ่า (Medusa) ในตำนานตอนนี้กล่าวไว้ว่า นางเป็นนางอัปสรที่สวยงามยิ่ง แต่เพราะไปหลงใหลใฝ่ฝันเทพโปเซดอนเข้า เทวีเอเธน่าจึงพิโรธโกรธเกรียว สาปให้นางมีผมเป็นงูไปทันที และทำให้นางน่าขวัญหนีดีฝ่อจน ผู้ใดเห็นเข้าจะกลายร่างเป็นหินแข็งชาไปหมด แต่เพราะการได้ร่วมอภิรมย์กับโปเซดอนในรูปร่างของม้า เมื่อวีรบุรุษเปอร์ซุสตัดศีรษะนางขาดออกนั้น เลือดที่กระเซ็นออกมากลายเป็นม้าวิเศษ 2 ตัว ตัวหนึ่งคือ คริสซาออร์ (Chrysaor) และอีกตัวคือ เปกาซัส (Pegasus) นั่นเอง

มหาเทพซุส หรือซุส (Zeus) หรือ จูปีเตอร์ (Jupeter) เทพแห่งสายฟ้า เจ้าแห่งเทพทั้งปวง


หลังจากปราบยักษ์เสร็จปราศจากเสี้ยนหนามใดๆ แล้ว ซุสก็ขึ้นครองบัลลังก์รั้งอำนาจเต็มตลอด 3 ภพ คือ สวรรค์ พิภพและบาดาล แต่ซุสตระหนักดีว่า การที่จะปกครองทั้ง 3 ภพและทะเลให้ทั่วถึงมิใช่เรื่องง่าย เพื่อป้องกันการแก่งแย่งอำนาจและกระด้างกระเดื่อง ซุสจึงจัดสรรอำนาจยอมยกให้เทพภราดรมีเอกสิทธิในการปกครองอาณาเขตโดยให้เนปจูน (Neptune) หรือ โปเซดอน (Poseidon) ได้ครองทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและแม่น้ำทั้งปวง พลูโต (Pluto) หรือ ฮาเดส (Hades) เป็นเจ้าแห่งตรุทาร์ทารัสและแดนบาดาลทั้งหมดอันรัศมีของแสงอาทิตย์ไม่เคยส่องลอดไปถึงเลย ส่วน จูปิเตอร์ (Jupeter) หรือตัว ซุส (Zeus) เองปกครองทั้งสวรรค์และพิภพ แต่ก็มีอำนาจที่จะสอดส่องดูแลกิจการทั่วไปในเขตแดนของเทพภราดรทั้งสองได้บ้าง

หากกล่าวถึงบทบาทของซุสแล้ว ต้องยอมรับว่าซุสมีบทบาทขัดแย้งในองค์เองมากที่สุดในบรรดาเทวะด้วยกัน เนื่องจากทรงเป็นมหาเทพผู้ทรงอำนาจสูงสุด และมีผู้เคารพนับถือโดยทั่วไป เป็นที่ยำเกรงของสามโลก ทรงไว้ซึ่งฤทธิ์อำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดิน แต่กลับทรงมีอุปนิสัยเหมือนบุรุษหนุ่มธรรมดาๆ บางคน นั่นคือ ความเกรงใจที่มอบให้แก่มหาเทวีเฮรา ผู้เป็นชายา หากพูดกันตามประสา ก็คือ "กลัวเมีย" และสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะความเจ้าชู้ที่มีอยู่ในตัวมหาเทพซุสนั่นเอง

ความขัดแย้งอีกประการหนึ่งก็คือ แม้ว่าซุสมีอำนาจสูงสุดทั่วทั้งสามภพ แต่ไม่อาจใช้อำนาจของตนไปแตะต้องเทพองค์หนึ่งได้ ทั้งๆ ที่เทพองค์นั้นก็เป็นเพียงเทวะชั้นรอง และไม่สามารถมาประชันขันแข่งกับซุสเทพบดีได้ เทพองค์นั้นมีนามว่า ชะตาเทพ (Fate) แสดงว่าไม่มีผู้ใดเลย แม้แต่เหล่าทวยเทพจะหาญสู้ หลีกเลี่ยง หรือก้าวก่ายกับชะตาชีวิตได้

รูปสลักของซุสมีลักษณะเป็นบุรุษสูงวัย ล่ำสันแข็งแรง พักตร์มีสง่าราศี กอปรด้วยเครายาวและเกศาหยิกสลวย ซุสมี อสนีบาต (Thunder bolt) เป็นอาวุธประจำกาย ทรงเกราะทองประกายวาววับ ซึ่งเกราะทองนี้ไม่มีมนุษย์สามัญจะทนมองได้ แม้แต่ทวยเทพด้วยกันเอง หากไปเพ่งมองแสงเจิดจ้าของเกราะทองเข้าก็ย่ำแย่เช่นกัน ทรงมีพญานกอินทรีเป็นนกเลี้ยง ต้นโอ๊คเป็นพฤกษาประจำองค์ มีมหาวิหารและศูนย์กลางศรัทธาในตัวพระองค์อยู่ที่เมืองโอลิมเปีย

ซุสออกจะถนัดถนี่ในการล่อลวงสตรีสาวสวยยิ่งกว่าเหล่าเทพองค์ใดๆ เท่าที่เคยมีมา ทรงปลอมเป็นวัวสีขาวสง่างาม ไปหลอกโฉมงามนางยูโรปา (Europa) ไปเชยชมที่เกาะครีต นอกจากนี้ยังทรงแปลงเป็นหงส์ไปก้อร่อก้อติกสาวงามนาม ลีดา (Leda) จนนางตั้งครรภ์และคลอดออกมาเป็นไข่ ครั้นไข่แตกออก แทนที่จะเป็นตัวประหลาดครึ่งคนครึ่งหงส์โผล่ออกมาอย่างตำนานทั่วไป กลับกลายเป็นฝาแฝดชายคู่หนึ่ง ได้แก่ คัสเตอร์ (Castor) กับ โพลิดียูซิส (Polydeuses) หรือ พอลลักซ์ (Pallux) ในภาษาโรมัน สิ่งที่ทำให้ทารกคู่นี้เป็นพยานความสัมพันธ์ระหว่างเทพกับมนุษย์คือ คนหนึ่งมีกายเป็นอมตะดั่งเทพ แต่อีกคนหนึ่งตายได้อย่างมนุษย์สามัญธรรมดา นอกจาก ฝาแฝดชายคู่นี้แล้ว ลีดายังมีแฝดหญิงอีกคู่หนึ่ง ซึ่งกระเดื่องเลื่องชื่อที่สุดในตำนานกรีกโบราณ หนึ่งนั้นนามว่า เฮเลน (Helen) ต้นเหตุของมหาสงครามกรุงทรอย อีก หนึ่งคือ ไคลเตมเนสตร้า (Clytemnestra) ซึ่งต่อมาได้เป็นมเหสีของ อกาเมมนอนแห่งไมซีนี่ (ความสัมพันธ์สวาทของนางลีดากับพญาหงส์ปลอมที่มหาเทพซุสทรงจำแลงมานั้นเป็นไปอย่างซ่อนเร้น เพราะลีดาเป็นมเหสีของท้าว ทินดาริอุส (Tindarius) แห่งสปาร์ต้า เมื่อลีดาให้กำเนิดเฮเลนและไคลเตมเนสตร้า ทินดาริอุสก็นึกว่าเป็นธิดาของพระองค์)

ยังมีเรื่องพิศวาสระหว่างซุสกับนวลอนงค์อื่นๆ อีกมาก อาทิสัมพันธ์รักกับนางไอโอ ที่เป็นยายของวีรบุรุษ เฮอร์คิวลิส รักกับไดโอนีและมีธิดา นามว่า อโฟรไดท์ พิสมัยกับไมอาและมีโอรสนามว่า เฮอร์มิส ฯลฯ